“เรื่องใหญ่” ที่หลายคนมองว่า “เรื่องเล็ก”
นิสัย... “เรื่องใหญ่” ที่หลายคนมองว่า “เรื่องเล็ก” .

โจรสลัดสองคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มาพบหน้ากันในบาร์แห่งหนึ่ง ทั้งสองถูกชะตากันจึงสนทนากันอย่างออกรส . โจรสลัดหนุ่มคนแรกเอ่ยถามขึ้นว่า “ท่านพี่ไปโดนอะไรมาถึงมีมือขวาเป็นตะขอเหล็กอย่างนั้นเล่า” . ขุนโจรสลัดรุ่นพี่ยิ้มกริ่ม ก่อนตอบว่า “อ๋อ ไม่มีอะไรมากไอ้น้อง ตอนนั้นพี่กำลังจะปล้นสะดมเรือบรรทุกสินค้าลำหนึ่งในทะเลอินเดีย แล้วก็เลยต้องประดาบกับกัปตันเรือที่เก่งมาก พี่เอาชนะมันได้ แต่กัปตันมันก็ตัดมือขวาของพี่ไปได้เหมือนกัน พี่ก็เลยเอาตะขอเหล็กมาใส่แทนมันซะเลย” . “โห พี่นี่สุดยอดไปเลย ข้าน้อยนับถือจริง ๆ” โจรสลัดรุ่นน้องกล่าวด้วยความตื่นเต้น “แล้วขาเข็มเหล็กอันนี้ของพี่ล่ะครับ ได้มายังงัย” เขาถามต่อด้วยความใคร่รู้ . “อ๋อ อันนี้น่ะเหรอ ก็มีอยู่วันหนึ่งที่พี่กำลังปล้นเรือขนน้ำมันแถว ๆ ทะเลแคริบเบี้ยน แล้วสุดท้ายพี่ก็ต้องไปสู้ตัวต่อตัวกับกัปตันเรือที่เก่งมาก ๆ อีกคนหนึ่ง แต่พี่ก็เอาชนะมันได้อีกนะ แต่ไอ้กัปตันนั่นก็ตวัดดาบฟันขาข้างนี้พี่ขาดไปเลย พี่ก็เลยไปเอาเข็มเหล็กมาใส่แทนซะเลย” โจรสลัดหนุ่มใหญ่ตอบ . “เจ๋งสุด ๆ ไปเลยครับท่านพี่” โจรสลัดหนุ่มกล่าวด้วยตาลุกวาว “แล้วพี่ปิดตาข้างขวาไว้ทำไมล่ะครับ เกิดอะไรขึ้น” เขาถามต่อ . “อ๋อ อันนี้น่ะเหรอ ก็มีอยู่วันหนึ่งพี่กำลังยืนอยู่บนดาดฟ้าเรือ แล้วก็มีนกนางนวลบินโฉบมาพี่เลยต้องเอามือปัดหน้าน่ะ” . “พี่ตาบอด เพราะเอามือปัดนกนางนวลโฉบหน้าเนี่ยนะ?” โจรหนุ่มถามด้วยความงงงวย . “เอ่อ ก็พอดีวันนั้น มันเป็นวันแรกที่พี่เพิ่งได้ไอ้มือตะขอเหล็กนี้มาใช้น่ะสิ” .

----------------------------------------------- . “ข้อคิดที่ซ่อนอยู่” อ่าน “หนึ่งเรื่องเล่าล้านไอเดีย” วันนี้แล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ แอบมียิ้มมุมปากกันบ้างหรือเปล่าครับ? . นอกเหนือจากรอยยิ้ม เรื่องนี้มี “ไอเดียสำคัญ” ที่ทรงคุณค่ามากซ่อนอยู่ด้วยนะครับ มีใครมองเห็นบ้างหรือเปล่า ผมขอนำเสนอไอเดียนั้นในแบบของผมนะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน . ชีวิตเราต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และ “ไม่มีใครหรอกที่ปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ในชีวิตได้ในทันที” เราต้องการเวลาเสมอ . เรื่องยิ่งสำคัญ ยิ่งใหญ่ แค่ไหน เรายิ่งต้องการเวลามากขึ้น และปกติแล้ว ในระหว่างช่วงของการปรับตัวนี้ มนุษย์เราก็มักจะทำสิ่งผิดพลาดได้เสมอ เพราะยังไม่ “คุ้นเคย” กันสถานะและเงื่อนไขใหม่ ๆ ของชีวิต เหมือนที่โจรสลัดผู้นี้เป็น . แน่นอนว่า “การเปลี่ยนแปลง” ในชีวิตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถ “จำกัดความผิดพลาด” ของเราได้ในขณะที่เราอยู่ในช่วงของการปรับตัวด้วยการ “สร้างนิสัยใหม่” ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป และเชื่อไหมครับว่า หลาย ๆ คนมักรู้สึกว่า “การสร้างนิสัยใหม่” เป็นเรื่องยาก เลยดื้อดึง ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ฝืนใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ตามนิสัยเดิม ๆ ที่เป็นมาตลอด ทั้ง ๆ ที่เงื่อนไขของชีวิตเปลี่ยนไปมากแล้ว ผลลัพธ์เลยกลายเป็น “ชีวิตที่ตกต่ำและผิดพลาด” มากขึ้นทุกวัน ๆ โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว . “การสร้างนิสัยใหม่” ทั้ง “นิสัยดี” และ “นิสัยไม่ดี” นั้นจริง ๆ แล้ว ไม่ได้ต้องใช้ “พลังใจ” อะไรมากมายเหมือนที่หลาย ๆ คนคิด สิ่งเดียวที่คุณต้องการคือ “ความสม่ำเสมอ” . ดูจากประสบการณ์ตัวเอง ในการฝึกลูกสาวเล็ก ๆ สองคนให้มีวินัยในการ “แปรงฟันทุกครั้งและทันทีที่ตื่นนอนและก่อนเข้านอน” บอกเลยครับ ว่าตอนแรก ๆ เป็นอะไรที่ยากมาก ลูกก็ขี้เกียจ พ่อแม่ก็เหนื่อย หลาย ๆ ครั้งแทบจะ “ยอมแพ้” ให้กับ “อารมณ์” ตัวเองด้วยกับการบอกว่า “ไม่แปรงสักวันไม่เป็นไรหรอก พรุ่งนี้ก็ได้” แต่เมื่อเราเอาชนะ “เสียงเล็ก ๆ” ในหัวนี้ได้ พยายามทำทุกวัน ไม่มีข้อแม้ ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน ไม่ว่าลูกจะง่วงแค่ไหน ก็ต้องปลุกมาแปรงฟันก่อนให้ได้ ยิ่งทำ มันยิ่งง่ายขึ้นทุกวัน จนทุกวันนี้ กลายเป็นว่า หากวันไหนผมลืม ลูก ๆ จะเป็นคนเตือนผมเองว่า “หนูยังไม่ได้แปรงฟันเลยค่ะ” และจะไม่ยอมเข้านอนหากไม่ได้แปรงฟัน . ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ . หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า “การสร้างนิสัยใหม่” ให้ติดเป็นนิสัยถาวรได้นั้น เราต้องทำสิ่งเหล่านั้นให้ต่อเนื่องอย่างน้อย 21 วัน อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยอย่างเป็นทางการในปี 2009 ระบุว่า การสร้างนิสัยใหม่ให้ได้จริงนั้น ใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 2-8 เดือน โดยขึ้นอยู่กับ “ความยากง่าย” และ “ความซับซ้อน” ของนิสัยใหม่นั้นเป็นสำคัญ . วิธีการสร้างนิสัยใหม่ที่ง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุดคือการ “ทำซ้ำ ๆ” ในสิ่งที่ต้องการให้กลายเป็น “นิสัย” นั่นเอง โดยมีเคล็ดลับว่า “ให้ทำซ้ำ ๆ สม่ำเสมอ แต่ไม่ควรทำแบบหักโหม” เพราะการทำอะไรแบบหักโหมมักจะทำให้สมอง “เข็ด” และไม่อยากลุกขึ้นมาทำอีก จึงเป็นสาเหตุที่เราเห็นหลาย ๆ คนเมื่อเริ่มต้นออกกำลังกาย ก็ “จัดหนัก” เต็มที่ แต่ทำได้เพียงไม่กี่วัน รองเท้าวิ่งที่ซื้อใหม่ ก็วางอยู่ที่เดิม อุปกรณ์ออกกำลังกายราคาแพง ก็กลายเป็นเพียงราวแขวนเสื้อผ้า เป็นต้น . ชาร์ลส์ ดูฮิกก์ ผู้เขียนหนังสือ The Power of Habit ได้อธิบายว่า “เคล็ดวิชาสร้างนิสัยใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ” มีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอน . 1. Create a trigger หรือ “การกำหนดจุดเริ่ม” จุดเริ่มที่ดีควรจะเป็นกิจกรรมที่เราทำเป็น “ปกติวิสัย” โดยไม่ต้องอาศัยความพยายามอะไรมากมายอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น หากเราเป็นคนชอบดูซีรี่ส์และต้องการวิ่งออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมงบนลู่วิ่งทุกวัน “จุดเริ่ม” ที่เราจะกำหนดอาจจะเป็น “การดูซีรี่ส์” ที่เราทำเป็นประจำนี่แหละ โดยกำหนดไปเลยว่า หากฉันจะดูซีรี่ส์ ก็ต้องดูไปพร้อมกับ “การวิ่งบนลู่” ไปด้วย ตอนเริ่ม ๆ อาจจะใช้ความพยายามอยู่บ้าง แต่เชื่อเถอะครับว่า เพียงคุณอดทนทำไปให้ต่อเนื่องสักหนึ่งสัปดาห์ “ความพยายาม” เหล่านั้นจะค่อย ๆ ลดลง แล้วมันจะเริ่มกลายเป็น “สิ่งที่ไม่ทำไม่ได้” กลายเป็น “นิสัยดี” อันใหม่ที่จะติดตัวคุณตลอดไป . 2. Pick a routine หรือ “การทำให้เป็นกิจวัตร” คือการทำอย่างไรก็ได้ให้ “นิสัยใหม่” ที่คุณอยากได้นั้นกระทำได้อย่างสม่ำเสมอ และทำได้อย่างง่ายดายที่สุด แม้จะเป็นการทำเพียง “เล็กน้อย” ก็ตาม กล่าวคือ หากเป้าหมายของคุณคือการวิ่งออกกำลังให้ได้ทุกวัน สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณวิ่งวันละกี่กิโลเมตร แต่อยู่ที่ว่า คุณต้อง “วิ่งให้ได้ทุกวัน” ต่างหาก . 3. Enjoy the reward หรือ “จงมีความสุขกับผลรางวัล” โดย “รางวัล” ในที่นี้ก็คือ “เป้าหมาย” หรือ “นิสัยใหม่” ที่คุณต้องการสร้างนั่นเอง ในเบื้องต้น “รางวัล” ของคุณอาจจะอยู่ในรูปของความรู้สึกพอใจที่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำจนสำเร็จ แต่หลังจากนั้นเพียงไม่นาน รับรองว่าคุณจะได้ดื่มด่ำกับ “รางวัลที่แท้จริง” นั่นคือ “ผลลัพธ์” ที่ชัดเจนของ “นิสัยใหม่” ที่คุณสร้างมันจนได้ ไม่ว่าจะเป็น การมีรูปร่างดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น มีทักษะใหม่ ๆ หรือการทำลายขีดจำกัดต่าง ๆ ของตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า . แนวทางการสร้างนิสัยใหม่ข้างต้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่า “ทำได้จริง” และ “มีประสิทธิภาพยิ่ง” ดังนั้น “ความสำเร็จในชีวิต” จึงไม่ใช่เรื่องของการ “ไม่รู้” แต่เป็น “รู้แล้วไม่ทำ” มากกว่าครับ . เ ร า ม า เ ป็ น ค น ที่ "ดี ขึ้ น" แ ล ะ "เ ก่ ง ขึ้ น" ใ น ทุ ก วั น กั น น ะ ค รั บ? . มารุต เมฆลอย นักธุรกิจภาษาและนักพัฒนาชีวิต
-----------------------------------------------